default
เคยได้ยินเรื่องราวของโนอาห์มั้ยครับ?
ชายและครอบครัวผู้ถูกเลือกให้รอดชีวิตพร้อมสรรพสัตว์เพศผู้และเมียอย่างละ 1 คู่
เพื่อให้สืบเผ่าพันธุ์ต่อไปหลังเหตุการณ์น้ำท่วมโลก
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ด้วยบัญชาจากพระเจ้า เรือที่โนอาห์สร้าง (Noah’s Ark) สามารถรอดจากอุทกภัยครั้งนั้นมาได้สำเร็จ
หลังจากระดับน้ำลดลงเรือลำนั้นได้ติดอยู่บนยอดเขาอารารัต (Mount Ararat)
และยอดเขาอารารัตนั้น ก็อยู่ที่นี่เอง
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
“Armenia: The land of Noah”

สวัสดีครับ วันนี้ขอแนะนำประเทศ “อาร์เมเนีย” ที่แม้อยู่ติดกับประเทศยอดนิยมอย่างตุรกี และจอร์เจีย แต่กลับไม่ค่อยมีใครมาเยือนนัก
แต่จากประสบการณ์ของเราเอง ขอบอกว่า ดินแดนที่อยู่คู่กับยอดเขาสวยงามอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ จะทำให้คุณรู้สึก “คุ้มค่า” ที่เลือกมาครับ

🚗เพียงแค่ 3 วันที่ประเทศแห่งนี้ เราพบความประทับใจมากมายตลอดเส้นทางการเช่ารถขับ ไม่ว่าจะเป็น

  • ค่า Visa on arrival สุดถูก เหมือนฟรี 🙀
  •  ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ก็ยังคงฟรี!!
  • ทัศนียภาพนอกเมืองที่งดงามราวภาพวาด 😯
  • ความแตกต่างระหว่างตัวเมือง และชนบท ที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศการท่องเที่ยวให้หลากหลาย
  • เจ้าถิ่นที่มีแต่รอยยิ้มต้อนรับ
  • เกสต์เฮาส์ที่บริการด้วยใจเหมือนไปเยี่ยมบ้านญาติ
  • และค่าครองชีพที่ยังถูกลงได้อีก (ถูกกว่าจอร์เจียอีกนะ) 😀

มาเลย! ไปเที่ยวกันครับ

🚋 🚊ปล. ทริปนี้เราไปกัน 2 ประเทศ จอร์เจีย-อาร์เมเนีย เดินทางข้ามพรมแดนด้วยรถไฟตู้นอน
Part นี้เป็น part 2: Armenia หากใครสนใจอ่าน part 1: Georgia สามารถอ่านได้จากลิงก์นี้ครับ: https://www.travelxdentist.com/georgia/

ก่อนอื่นขอแนะนำข้อควรรู้ก่อนไปอาร์เมเนีย จากประสบการณ์ที่ได้รับนะครับ

ข้อควรรู้ก่อนไปอาร์เมเนีย: เอกสารการท่องเที่ยว (Travel documents)

  • เป็น Visa on arrival คือไปถึงที่หมายแล้วสามารถทำ Visa ได้เลยด้วยราคา
  •  21 วัน 3000 ดรัม (210 บาท)
  • 120 วัน 15000 ดรัม (1050 บาท)

ซึ่ง 21 วันก็เพียงพอแล้ว และด้วยราคาประมาณ 200 บาทเท่านั้น ! โอ้ว ! อะไรจะถูกขนาดนั้น
สำหรับผู้เดินด้วยรถไฟจากจอร์เจีย มีบริการทำ Visa ที่พรมแดนนะครับ

Tips:

*สำคัญมาก การทำ Visa on arrival จากการเดินทางด้วยรถไฟ ต้องจ่ายด้วยเงิน Armenian Dram เท่านั้น อย่าลืมแลกเงิน AMD ตั้งแต่อยู่ที่จอร์เจียก่อนนะคร้าบ
*สำคัญอีกเช่นกัน เนื่องด้วยข้อพิพาทระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน ปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน และเกือบทั้งหมดของผู้ที่เดินทางระหว่าง 2 ประเทศโดยตรง จะถูกปฏิเสธห้ามเข้าประเทศ (เช่นเดินทางจากอาร์เมเนียเข้าอาเซอร์ไบจานโดยตรง)
หากอยากเที่ยวทั้ง 2 ประเทศ ต้องเดินทางผ่านประเทศที่ 3 ก่อน เช่น อาเซอร์ไบจาน –> จอร์เจีย –>อาร์เมเนียครับ

ข้อควรรู้ก่อนไปอาร์เมเนีย: ฤดูกาลและเวลา

ขอบคุณข้อมูลจาก: https://araratour.com/seasons-in-armenia-an-overview-for-tourists
เว็บนี้เขียนไว้ดีมากนะครับ ว่าแต่ละฤดูกาลควรท่องเที่ยวแบบไหน เช่น shopping, trekking

เวลาในประเทศอาร์เมเนียช้ากว่าประเทศไทย 3 ชั่วโมง (GMT+4) ซึ่งเท่ากับประเทศจอร์เจีย

ข้อควรรู้ก่อนไปอาร์เมเนีย: ค่าเงินและค่าครองชีพ

อาร์เมเนียใช้สกุลเงิน Armenian Dram (Amd) โดย 100 Amd มีค่าประมาณ 6-7 บาท
(คำนวณค่าเงินง่ายๆโดยการตัด 0 ออก 2 ตัว แล้วคูณ 7 เช่น 1000 Amd = 10 x 7 = 70 บาท)
* มีร้านรับแลกเงินอยู่ทุกมุมถนน แต่ร้านที่อัตราแลกเปลี่ยนดีสุดคือที่ธนาคารครับ (คนท้องถิ่นบอกมานะ ผมก็แลกที่เดียวเลย ไม่ได้แลกตามร้าน)
*สำคัญมาก ไม่ต้องแลกเยอะมากก็ได้นะครับ เพราะค่าครองชีพถูก พอเหลือไปคืนได้เรตไม่ค่อยดี ส่วนตัวผมลืมคืนที่อาร์เมเนีย ไปคืนที่จอร์เจียก่อนกลับไทย ได้เรตแย่มาก แทบจะกลายเป็นเศษเงินเลยครับ T.T

ข้อควรรู้ก่อนไปอาร์เมเนีย: ศาสนา วัฒนธรรม การแต่งกาย อาหารการกิน

คล้ายๆจอร์เจียครับ ได้แก่
–             ส่วนใหญ่นับถือคริสต์นิกายออโธด็อกซ์
–             แหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะโบสถ์ชื่อดังหลายแห่งยังใช้เป็นศาสนสถานอยู่ มีการประกอบพิธีกรรม ควรสำรวมเป็นพิเศษ
–             อาหารที่นี่ทานขนมปัง ชีส แป้ง กันเป็นหลัก อยู่หลายๆวันเข้าก็เบื่อครับ
–             ผู้คนที่นี่นิยมดื่มไวน์เช่นเดียวกับที่จอร์เจีย
–              ข้อแตกต่างคือ ผู้คนที่นี่ยิ้มแย้ม และให้การต้อนรับดีมากครับ พยายามช่วยเหลืออย่างดี ผมเข้ามินิมาร์ทนอกเมือง ตกใจมากที่มีพนักงานตามมาถือตะกร้าช็อปปิ้งให้

ข้อควรรู้ก่อนไปอาร์เมเนีย: สาธารณูปโภค

–             เต้าเสียบเป็นแบบ 2 รู มี 2 แบบ (Type C และ Type F) ความต่างศักย์ไฟฟ้า 230 โวลต์ ซึ่งมากกว่าบ้านเรา แต่สามารถใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าจากบ้านเราได้ครับ
–             ถนนในตัวเมืองอยู่ในสภาพดีกว่าที่จอร์เจีย การจราจรค่อนข้างแออัด ส่วนถนนนอกเมือง หากเป็นเส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมก็อยู่ในสภาพพอรับได้
*แต่เส้นทางที่ไม่นิยม (ซึ่งเราเดินทางในครั้งนี้ด้วย) อยู่ในสภาพย่ำแย่ราวกับโดนระเบิดถล่มมาก็ไม่ปาน

ข้อควรรู้ก่อนไปอาร์เมเนีย: การเดินทางจากประเทศไทย

–             ปัจจุบันยังไม่มีสายการบินที่ให้บริการบินตรงจากประเทศไทยมายังอาร์เมเนีย
–             สำหรับทริปนี้ ผมเดินทางเข้าจอร์เจียก่อน แล้วมาอาร์เมเนียด้วยรถไฟตู้นอน แล้วกลับไปขึ้นเครื่องบินที่จอร์เจียครับ
–             สาเหตุที่เลือกจองแบบนี้ ก็เพราะค่าตั๋วเครื่องบินไป/กลับ จอร์เจีย ถูกกว่า ไป/กลับอาร์เมเนียนั่นเองครับ
–             *สำหรับการเดินทางด้วยรถไฟ ไว้ผมจะแยกต่างหากอีกโพสต์นะครับ ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายเช่นกัน

ข้อควรรู้ก่อนไปอาร์เมเนีย: การเดินทางภายในประเทศอาร์เมเนีย

–             เช่ารถขับเอง
“ทัศนียภาพระหว่างทางที่สวยงามมากๆ” เป็นเหตุผลที่เราเลือกเช่ารถขับเองครั้งนี้ และขอแนะนำว่าดีมากครับ การขับรถในอาร์เมเนียเป็นพวงมาลัยซ้าย หรือขับชิดขวา (ซึ่งตรงข้ามกับประเทศไทย แต่ขับไม่ยาก เพราะส่วนใหญ่ขับรถมีวินัย) สามารถใช้ international driving license จากประเทศไทยได้
–             รถ Taxi
สามารถหารถ Taxi ได้ง่ายทั่วทั้งเมือง ไม่ติดมิเตอร์เช่นกัน ค่าโดยสารแล้วแต่ต่อรอง หากใครอยากใช้ application ในการเรียก เห็นว่าที่นิยมใช้คือแอพฯ gg taxi ครับ
–             รถไฟ metro และรถเมล์
เป็นที่นิยมของคนท้องถิ่น ทั้งถูกและรวดเร็ว แต่ตลอด 3 วันเราไม่ได้ใช้บริการเลยครับ เที่ยวในตัวเมืองใช้วิธีเดิน อากาศดี ถนนดี เดินเล่นได้บรรยากาศดีครับ

ข้อควรรู้ก่อนไปอาร์เมเนีย: internet sim card

มีผู้ให้บริการ 3 ค่ายให้เลือก ได้แก่ VivaCell MTS, Beeline และ UCOM
–             เราเลือก VivaCell MTS เนื่องจากมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด ตลอดการใช้งานทั้งในและนอกเมืองตามเส้นทางการท่องเที่ยว สัญญาณคมชัดมาก สัญญาณดีกว่า Beeline ที่จอร์เจียด้วยครับ
–             ค่าย Beeline แม้จะชื่อเดียวกับที่จอร์เจีย แต่จากการสอบถามแล้วไม่สามารถใช้ซิม Beeline จากจอร์เจียในอาร์เมเนียได้ครับ
ราคา Sim card ก็ไม่แพงครับ 2 GB 2500 AMD (175 บาท) ไม่จำกัดจำนวนวัน

Day 1

เราออกเดินทางจากทบิลิซีด้วยรถไฟตู้นอน วิธีนี้มีข้อดีคือ ประหยัดค่าโรงแรมไปอีก 1 คืน อีกทั้งตื่นมาแล้วยังพร้อมเที่ยวได้เลยด้วยครับ สภาพบนรถไฟก็พอใช้ นอนหลับสนิทดีครับ

ข้อควรรู้สำหรับผู้ที่จะเดินทางด้วยรถไฟ

–    เป็นหัวรถจักรอดีตสหภาพโซเวียต (เก่า)
–    ที่นอนค่อนข้างสะดวกสบาย ปลอกหมอนสะอาด แต่หมอนบางใบอยู่ในสภาพไม่ดี (อาจใช้ผ้าขนหนูพับแล้วนอนหนุนหัวแทน)
–    เป็นเตียง 2 ชั้น (ตอนแรกเตียงชั้นบนจะถูกพับอยู่) หลังรถออก 15 นาที พนักงานจะนำปลอกหมอนและผ้าขนหนูผืนเล็กมาให้
–    กระเป๋าเดินทางให้เก็บใต้ที่นอน

–    มีเครื่องปรับอากาศ/ฮีตเตอร์ ในตู้นอน
–    ห้องน้ำที่หัวและท้ายขบวน เป็นแบบเก่า ใช้ตอนรถไฟอยู่นิ่งไม่ได้
–    ไม่มีอาหารและน้ำขายบนรถไฟ ซื้อตุนเผื่อหิวด้วยนะคร้าบ
–    ไม่มีเต้าเสียบให้ชาร์จไฟในตู้นอน (มีที่ทางเดินแต่จำนวนไม่มาก), ไม่มี WiFi
–    *รถหยุดที่พรมแดน 2 ครั้ง คือก่อนออกจอร์เจีย และเข้าอาร์เมเนีย

พรมแดนจอร์เจีย: ตม. จะมาเดินเก็บพาสปอร์ตบนรถ
พรมแดนอาร์เมเนีย: ตม. เรียกลงไปทำ Visa ถามคำถามพื้นฐานนิดหน่อย
ใช้เวลาผ่านด่านที่ละประมาณ 1 ชั่วโมง
ถึงสถานีรถไฟเยเรวาน เมืองหลวงตั้งแต่เช้าตรู่ สถานีรถไฟที่นี่ดูดีดีกว่าที่จอร์เจียมากครับ
ในวันฟ้าเปิด เราจะเห็นยอดเขาอารารัต (Mount Ararat) ได้จากบนรถไฟเลย แต่วันนี้ฟ้าปิดจ้า

ถึงแล้ว! สวัสดีเยเรวาน

สำหรับผู้สนใจจองรถไฟออนไลน์นั้น ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 มีเปิดให้บริการจองออนไลน์แล้วทางเว็บไซต์:
https://ticket.ukzhd.am/login.aspx?ReturnUrl=%2f
การจองไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายเช่นกัน

*ข้อมูลปลายปี 2019

  • ต้องสมัครสมาชิกก่อนโดยใช้อีเมลยืนยันการสมัคร
  • จ่ายผ่านบัตรเครดิต mastercard เท่านั้น (หลายบัตรใช้ไม่ได้ ผมลองถึง 4 บัตรจึงใช้ได้ (ของธนาคารสีฟ้า) มีนักท่องเที่ยวชาวไทยก็จ่ายไม่ผ่านหลายบัตรเช่นกัน))
  • เปิดให้จองล่วงหน้าก่อนวันเดินทางไม่เกิน 40 วัน แต่อย่าชะล่าใจนะครับ ผมจองล่วงหน้าเกือบ 1เดือน ได้ตั๋วใบสุดท้าย
  • ตั๋วมี 3 ระดับชั้น 3 ราคา ได้แก่ First, Second และ Third Class

  • ยังไม่รวมค่าบริการอีก 2000 AMD
  • ตารางการเดินรถ มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงเดือน เช่นช่วงฤดูหนาว รถออกจากจอร์เจียเฉพาะวันเลขคี่ และออกจากอาร์เมเนียเฉพาะวันเลขคู่ ตามตารางนะครับ

–    เมื่อซื้อสำเร็จ จะได้ตั๋ว Electronic tickets ส่งเข้าเมล สามารถปรินท์แล้วนำไปยื่นกับพนักงานผู้คุมรถได้เลย โดยไม่ต้องไปแลก Boarding pass อีกครับ
–    การจอง ให้กดที่ menu: Purchase a ticket จะปรากฏหน้าเว็บดังนี้

กรอกรายละเอียดที่ต้องการ

  • สถานีที่ทบิลิซีมีให้เลือก 3 สถานี ได้แก่ Tbilisi-pass, Tbilisi-sort และ Tbilisi-cross ที่เราต้องกดเลือกคือ Tbilisi-pass. นะครับ
  • จำนวนตั๋วเลือกได้มากที่สุด 4 ใบ/การซื้อ 1 ครั้ง (เลือกตั๋วไปกลับสำหรับ 4 คน = 4 ใบ ไม่ใช่ 8 ใบ)
  • Coach category เลือก Non-modernized
  • Coach class มี 3 แบบ ให้เลือก (ดูในตารางที่ทำให้นะครับ)
  • ติ๊กช่องสี่เหลี่ยม In the same compartment หากต้องการนอนตู้เดียวกัน
  • กด search เพื่อดูผลที่นั่งว่าง *หากไม่พอใจ ให้กด search again ให้เสร็จก่อนค่อยกรอกรายละเอียดใหม่ ไม่ใช่กรอกรายละเอียดใหม่ก่อนกด search again นะครับ
  • หากพอใจที่นั่งแล้ว ให้กด “เครื่องหมายถูก”
  • จะปรากฏปุ่ม Input data of passengers กดเพื่อกรอกข้อมูลผู้โดยสาร
  • หากต้องการซื้อทั้งตู้ เช่นตู้ second class ซึ่งมี 4 เตียง แต่เราไปกัน 3 คน สามารถใส่ข้อมูลผู้โดยสารซ้ำได้
  • ทำตามขั้นตอนชำระเงินต่อไปจนเสร็จสิ้น
  • สิ่งที่ยากคือ เว็บมันกดใช้งานแบบงงๆหน่อยครับ แต่ไม่ยากเกินไปเนาะ หากมีข้อสงสัย ส่งข้อความถามได้เลยนะครับ ใน เว็บ หรือใน FB page ก็ได้ครับ

แผนการท่องเที่ยวโดยสรุปเป็นตามนี้นะครับ เที่ยวจอร์เจีย –> อาร์เมเนีย –> กลับมาจอร์เจียอีกครั้งแล้วค่อยกลับไทย

โดยแผนการท่องเที่ยวในอาร์เมเนียเป็นดังนี้

ขับรถเที่ยวเอง 2 วัน ส่วนวันสุดท้ายเดินเล่นในเมืองหลวงครับ

รับรถเรียบร้อยก็ออกเดินทางกันเล้ย!

วันนี้เราจะขับรถไปเที่ยวนอกเมือง แล้วค้างนอกเมืองเลย เพื่อที่ว่าจะได้สะดวกไปถ่ายรูปสถานที่ไฮไลต์ตั้งแต่ช่วงเช้าคนน้อยๆ
และนี่ก็คือทัศนียภาพระหว่างเส้นทาง ต้องบอกว่า ไม่ผิดหวังจริงๆครับ

Noravank monastery

สถานที่แรก อารามที่ซ่อนอยู่ในหุบเขา … Noravank monastery

ตลอดเส้นทางประมาณ 8 กิโลเมตรก่อนถึงอารามแห่งนี้ เราจะเริ่มพบภูมิประเทศแบบแคนย่อน (Noravank canyon) แต่ที่พิเศษคือ เราจะเห็นชั้นหินวางตัวในแนวขวาง มีสีสันสวยงาม เกิดจากการทับถมของตะกอนภูเขาไฟ ซึ่งนอกจากความสวยงามแล้ว แคนย่อนแห่งนี้ยังมีถ้ำอีกหลายแห่งซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนกหายากหลายชนิด ค้างคาว และเสือดาวคอเคเชียน (Caucasian leopard) ทำให้เป็นสถานที่ยอดนิยมในการ trekking อีกด้วย

มีทั้งโบสถ์และสุสานต่างๆอยู่ โดยโบสถ์ที่เป็นไฮไลต์ คือ โบสถ์นักบุญ St.Astvatsatsin ที่โดดเด่นเรื่องโครงสร้าง โดยจุดที่ใครๆก็ต้องมาถ่ายรูปด้วยก็คือ “บันได”หน้าตัวโบสถ์ ที่สร้างเป็นสามเหลี่ยม โดยมีฐานอยู่ 2 ข้าง แล้วมาบรรจบกันตรงปลายยอดครับ

บันไดนี้มีการสร้างแบบที่เรียกว่า “บันไดคาน” หรือ cantilever stairs เป็นขั้นบันไดเสียบเข้าไปในตัวอาคาร โดยไม่มีราวบันไดอีกฝั่ง ซึ่งบันไดแบบนี้เรามักพบในสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่
แต่ที่น่าแปลก คือ บันไดที่โบสถ์แห่งนี้มีอายุเก่าแก่หลักร้อยปีแล้วครับ ล้ำสมัยสุดๆไปเลย !!

อีกหนึ่งจุดเด่นของที่นี่คือประติมากรรม “God and Adam” หรือพระเจ้ากับมนุษย์ผู้ชายคนแรกของโลกครับ โดยภาพสลักนี้แสดงให้เห็นพระเจ้าพระบิดา (God the father) ในรูปลักษณ์ชายไว้เครา ยกพระหัตถ์ขวาเหนือเหตุการณ์ที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน ส่วนพระหัตถ์ซ้ายประคองศีรษะของอดัม ที่กำลังได้รับการประทานลมหายใจจากวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ (ที่แสดงออกในรูปนกพิราบ)

ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่ามีการสื่อความหมายได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องมีตัวอักษรเลย ทำให้ประชาชนในยุคกลางที่อ่านหนังสือไม่ออก เพียงดูรูปแล้วก็เข้าใจได้ครับ
ความหมายก็คือ “พระเจ้ามอบชีวิตให้กับอดัม และมอบชีวิตนิรันดร์ให้กับพระบุตร (พระเยซู) โดยการตรึงกางเขน (หลังพระเยซูสิ้นพระชนม์จากการถูกตรึงกางเขน 3 วันก็ฟื้นคืนพระชนม์ และมีชีวิตนิรันดร์)”

เที่ยว Noravank อยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง เหลือเวลามากกว่าที่วางแผนไว้ เลยจะไปชมแสงยามสนธยาที่อีกไฮไลต์หนึ่งของอาร์เมเนียครับ
และนี่ก็คือภาพของอารามศักดิ์สิทธิ์ Khor Virap monastery ยามเย็น ไม่เสียดายเลยที่มาก่อนวันจริง

ที่พักแถว Khor Virap มีน้อยมาก เราเลือกเกสต์เฮาส์ ชื่อ B&B sunrise house ให้บริการโดย “บอริส” กับ “โซน่า” สองสามีภรรยา และ “เฮคทูช” น้องหมาโดเบอร์แมนประจำถิ่น ^.^

และที่นี่เองที่เราได้ความอบอุ่นราวกับเยี่ยมบ้านญาติเลยครับ
–    นับตั้งแต่เช็กอินตอนกลางวัน (ก่อนออกไปเที่ยว) บอริสได้ Whatsapp มาล่วงหน้า ว่าทานข้าวกลางวันมั้ย จะได้เตรียมไว้ให้
–    พอมาถึง ต้อนรับขับสู้อย่างดี ประเดิมมื้อกลางวันด้วยเนื้อห่อใบองุ่น สลัดผักปลูกเอง และกาแฟเข้มๆ

–    บอริสพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง และดูขี้เหงานะครับ เล่าว่า เคยเป็นหมอฟันทำงานกระทรวงสาธารณสุข และเคยไปประจำที่รัสเซียก่อนเกษียณ จึงได้เจ้าเฮคทูช มาจากรัสเซียด้วยตั้งแต่ยังเป็นลูกหมา
–    ลูกๆของบอริสและโซน่าแต่งงาน แยกย้ายกันไปหมดแล้ว จึงคิด Project ให้คุณพ่อขี้เหงา ด้วยการเปิด Guesthouse ต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งบอริสเองก็ดูมีความสุขมากตอนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักท่องเที่ยว
–    *สิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากคือ เราบ่นกับบอริสและโซน่าว่า อยู่ไทยเนี่ย กินข้าวทุกวันเลยนะ แต่ตั้งแต่มาจอร์เจีย แทบไม่ได้กินข้าวเลย
–    ผลคือ หลังจากเหน็ดเหนื่อยกลับมา โซน่าเตรียมข้าวผัดไว้ให้เป็นมื้อเย็นเลยครับ ^^ แม้คุณภาพจะสู้ข้าวบ้านเราไม่ได้ แต่มื้อนั้นอร่อยมากๆ ทั้งข้าวผัด ซุปขาแกะ และแยมแอปริคอตทำเอง ทำให้รู้สึกถึงความเอาใจใส่จริงๆ

–    แต่เดี๋ยวก่อน สำหรับผู้สนใจเข้าพัก ขอบอกก่อนว่า ห้องพักที่นี่ ไม่มีฮีตเตอร์ครับ ! ถ้าจะมาฤดูหนาวอาจไม่เหมาะเท่าไร
–    อ้อ! ก่อนเราออกไปเที่ยว เกิดเอะใจว่าทำไมไม่ได้กุญแจห้อง จึงไปถามบอริส ได้ความว่า เรามีเฮคทูชอยู่แล้วไง ไม่ต้องใช้กุญแจหรอก ฮ่าๆ การรักษาความปลอดภัยดีเยี่ยมเลยนะครับ

Day 2

Khor Virap monastery

ตื่นแต่เช้าตรู่ วันนี้เราจะไปชมสถานที่ที่ผมขอยกให้เป็นไฮไลต์อันดับหนึ่งในอาร์เมเนียทริปนี้เลยครับ

ความสวยงามของสถานที่แห่งนี้ อยู่ที่การเป็นโบสถ์โดดเดี่ยวบนที่ราบ ที่มียอดเขาอารารัต (Mount Ararat) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาเป็นฉากหลังครับ

ยอดเขาแห่งนี้เองที่มีความเกี่ยวข้องกับเรือของโนอาห์ (Noah’s Ark) ครับ
แล้วเรือของโนอาห์ คืออะไร?
เรื่องนี้ต้องกล่าวถึงตำนานเมื่อคราวที่พระเจ้าจะทำลายล้างโลกด้วยอุทกภัย
แต่ก่อนจะบันดาลให้เกิดภัยพิบัตินั้น
พระเจ้าได้มีบัญชาให้โนอาห์สร้างเรือเพื่อใช้บรรทุกสัตว์หลากหลายสายพันธุ์อย่างละคู่
เพื่อหลีกหนีจากน้ำท่วมโลก

default

ครั้นเมื่อระดับน้ำลดลง ยอดเขาอารารัตเป็นสถานที่แรกที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา และเรือของโนอาห์ก็ติดอยู่บนยอดเขานั่นเอง

ชื่นชมกับความยิ่งใหญ่ของยอดเขาอารารัตกันแล้ว มาชมโบสถ์สำคัญกันบ้างครับ ความงดงามที่อวดโฉมให้เราเห็นมีเรื่องราวที่ทั้งน่าเศร้า ทึ่ง และเหนือจินตการแฝงอยู่ครับ
ลืมบอกไปว่า อาร์เมเนียเป็นประเทศแรกในโลกที่รับคริสต์ศาสนาเข้ามาเป็นศาสนาประจำชาติ และสถานที่นี้เอง สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น

เดิมทีดินแดนแห่งนี้เป็นพวก pagan คือนับถือเทพเจ้าหลายองค์ เช่น เทพโรมันต่างๆ

แต่นักบุญเกรกอรี่ (Saint Gregory, the illuminator) เป็นผู้ที่ทำให้กษัตริย์แห่งอาร์เมเนียเปลี่ยนพระทัยหันมารับคริสต์ศาสนาเป็นศานาประจำชาติ

ช่วงแรกนั้นกษัตริย์ไม่ได้ยอมรับคริสต์ศาสนาตั้งแต่แรก และสั่งทรมานนักบุญเกรกอรี่โดยให้มัดมือมัดเท้า และเอาไปโยนทิ้งไว้ใต้ดิน แล้วเดินหน้ากวาดล้างศาสนาคริสต์อย่างหนัก

เหตุการณ์ผ่านไปเนิ่นนาน จากหลายเดือน เข้าสู่หลายปี กษัตริย์แห่งอาร์เมเนียเกิดวิกลจริต มีพฤติกรรมบ้าเหมือนหมูป่า เสวยร่วมกับหมู อีกทั้งยังทำร้ายทั้งครอบครัวและประชาชนของพระองค์ แผ่นดินอาร์เมเนียเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

แต่แล้วก็เกิดเหตุประหลาดขึ้น เมื่อพระกนิษฐาได้ฝันถึงนางฟ้า ซึ่งมาบอกว่าให้ไปหานักโทษเกรกอรี่ที่ถูกจองจำอยู่ นักโทษผู้นั้นสามารถช่วยรักษาอาการประชวรได้

แต่นั่นเป็นเวลาถึง 13 ปีแล้ว ที่นักบุญเกรกอรี่ถูกมัดมือมัดเท้าและโยนทิ้งไว้ใต้ดิน ไม่มีใครคิดว่านักบุญเกรกอรี่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างแน่นอน…
แต่กลับเกิดเรื่องอัศจรรย์ขึ้น นั่นคือ นักบุญผู้นี้ยังมีชีวิตอยู่ แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานถึง 13 ปี แล้วก็ตาม !!!
ภายใต้การจองจำนั้น นักบุญเกรกอรี่ได้รับอาหารจากแม่ม่ายชาวคริสเตียนอย่างสม่ำเสมอจึงมีชีวิตรอดมาได้ แต่ที่แปลกประหลาดก็คือ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในความฝันครับ !

หลังได้รับการปลดปล่อย นักบุญเกรกอรี่รักษาอาการประชวรของกษัตริย์สำเร็จ กษัตริย์เองก็เกิดความเลื่อมใส เข้ารับการชำระบาป และรับศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติเป็นประเทศแรกในโลก ส่วนนักบุญเกรกอรี่ก็ได้เป็น Bishop และเผยแผ่ศาสนาคริสต์ต่อไป

และเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่นักบุญเกรกอรี่ถูกจองจำไว้นานถึง 13 ปี จึงมีการสร้างอารามแห่งนี้ขึ้นครับ

เสร็จสิ้นการเที่ยว Khor Virap เรียบร้อย ไม่เสียทีที่อุตส่าห์มานอนเกสต์เฮาส์นอกเมือง ได้เที่ยวทั้งเย็น ทั้งเช้าเลย
บ๊ายบาย Khor Virap
บ๊ายบายอารารัต

Azat reservoir

สถานที่ต่อไปเราต้องขับรถผ่านเส้นทางที่นักท่องเที่ยวไม่นิยมใช้นัก  สภาพถนนย่ำแย่ เป็นทางลงเขาที่ราวกับโดนระเบิดมาก็ไม่ปาน (เพิ่งเช็ก google map เมื่อสักครู่ ไม่แนะนำให้ใช้เส้นทางนี้แล้วครับ)
ส่วนสาเหตุที่เราเลือกมาทางนี้ ก็ด้วยเหตุผลเดียวเลยครับ Azat reservoir อ่างเก็บน้ำ ที่มีทัศนียภาพสวยงามราวภาพวาด

และแน่นอน ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหน หากฟ้าเปิด เรายังคงเห็นอารารัตตั้งตระหง่านอยู่เสมอ

ภาพที่เห็นเบื้องหน้า มันช่างสวยงามจริงๆ แต่ขอแนะนำว่า หากใครไม่ได้อยาก “มาก” จริงๆ ให้เลี่ยงเถอะครับ เส้นทางย่ำแย่มาก

Garni temple

สถานที่ต่อไป Garni temple สิ่งก่อสร้างสไตล์โรมันเพียงหนึ่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในอาร์เมเนียครับ

 

หัวเสาแบบไอออนิก (Ionic order) บ่งบอกถึงความเป็นโรมันอย่างโดดเด่น

เหตุการณ์ต่อเนื่องมาจากการรับศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติครับ หลังจากนั้นกษัตริย์ได้กวาดล้างความเชื่อเก่า ซึ่งก็รวมถึงการนับถือเทพเจ้าโรมันด้วย โดยได้ทำลายสิ่งก่อสร้างต่างๆทั้งประเทศจนหมดสิ้น แต่กลับเหลือวัดการ์นี่ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างสไตล์โรมันเพียงหนึ่งเดียวที่ยังคงรอดมาได้ถึงปัจจุบัน

ทำไมกษัตริย์ถึงไม่ทำลายสถานที่แห่งนี้? บ้างก็สันนิษฐานว่าเพราะหาไม่เจอ ซึ่งก็ไม่น่าใช่ เพราะวัดแห่งนี้ก็ใหญ่โต ซ่อนยังไงก็ไม่น่าพ้นสายตาไปได้
จึงมีข้อสันนิษฐานว่า เหตุเกิดจาก “ความงาม” ที่ทำให้ตัดใจไม่ลงในการทำลายให้สิ้นซากนั่นเอง

Tips: *ที่นี่เป็นสถานที่เดียวที่เก็บค่าเข้าชมในทริปนี้คนละ 1500 AMD (ประมาณ 105 บาท) ครับ

Geghard monastery

เมื่อมา Garni แล้ว จะพลาดอีกที่ไม่ได้เลยครับ อยู่ใกล้กันนิดเดียว อาราม Geghard monastery
โบสถ์อีกแล้ว ฮ่าๆๆๆ เหมือนทัวร์โบสถ์เนาะ แต่เดี๋ยวก่อนครับ ถ้าธรรมดาเราไม่มาแน่นอน ตามมาดูกันก่อนครับ

จำนักบุญเกรกอรี่ ผู้ที่ทำให้กษัตริย์เปลี่ยนพระทัยมานับถือศาสนาคริสต์ได้ใช่มั้ยครับ?
หลังจากนั้นท่านได้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ และสร้างศาสนสถาน ซึ่งก็รวมถึงอารามแห่งนี้ด้วย
โดยความพิเศษของอารามแห่งนี้อยู่ที่วิธีการสร้าง ที่ไม่ได้ก่ออิฐก่อปูนขึ้นมา แต่เป็นการสร้างโดยการ “ตัด” เข้าไปในหินผาครับ

เอกลักษณ์ที่สร้างโดยการตัดเข้าไปในหินผา ทำให้โบสถ์นี้มีชื่อเดิมในภาษาอาร์เมเนีย ที่แปลได้ว่า “อารามในถ้ำ” หรือ Monastery in the cave

สังเกตได้ว่า แทบทุกโบสถ์นั้น งานจิตรกรรมจะมีภาพ St.Astvatsatsin หรือก็คือ Holy mother of god ซึ่งหมายถึง “พระแม่มารีย์” พระมารดาของพระเยซูนั่นเองครับ

อีกสิ่งที่น่าสนใจก็คือ สถานที่แห่งนี้อยู่ในได้รับการดูแลอย่างดี ทำให้อยู่ในสภาพเดิมตั้งแต่เมื่อครั้งที่สร้าง หรือราว 800 ถึง 1000 กว่าปีก่อน ให้บรรยากาศเหมือนย้อนไปยุคกลางเลยทีเดียวครับ (ต่างกับสถานที่อื่น ที่มักบูรณะในภายหลัง ไม่ว่าจากการถูกทำลาย หรือภัยธรรมชาติ)

ส่วนจิตรกรรมอื่นๆภายในโบสถ์ ก็เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญต่างๆในศาสนาคริสต์ เช่น
พระเยซูทรงรับศีลจุ่มล้างบาป (Baptism) ที่แม่น้ำจอร์แดน

ถูกตรึงกางเขน

และฟื้นคืนพระชนม์

Arch of Charents

สถานที่เล็กๆ แต่ขอบอกว่า “เด็ดมาก” ครับ เป็นทางผ่านกลับกรุงเยเรวานนั่นเอง แทบไม่มีคนแวะเลย รถขับผ่านกันฟิ้วๆๆๆ

อนุสรณ์สถานแห่งนี้ สร้างเพื่อเป็นเกียรติให้กับ Charents กวีเอกแห่งอาร์เมเนีย ผู้ประพันธ์บทกวีเกี่ยวกับความรักและความภาคภูมิใจแห่งอาร์เมเนียครับ
โดยว่ากันว่า Charents รักสถานที่แห่งนี้มาก และมักมาเยี่ยมเยียนสถานที่แห่งนี้อยู่เสมอ
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลย ว่า Charents ได้แรงบันดาลใจในการประพันธ์บทกวีมาจากไหน ในเมื่อเค้ามาเยือนสถานที่สวยงามแห่งนี้เป็นประจำ

ภาพของยอดเขาอารารัตที่เราได้เห็นจากสถานที่แห่งนี้ “เหมือนลอยอยู่บนฟ้า ไม่ยึดติดกับแผ่นดิน” จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในทัศนียภาพที่สวยงามที่สุดเลยทีเดียว และสิ่งที่ยืนยันความสวยงามของทัศนียภาพแห่งนี้ได้อย่างดีก็คือคำจารึกของ Charents เองที่ว่า “Pass the whole world with its mountains white, to the beauty of Masis equals none” ถอดความได้ว่า “ผ่านภูเขาสีขาวของโลกมาทั้งใบ ก็หามีที่ใดงามเทียมเท่าอารารัต”

ส่วนในรูปนั้นคือเจ้าถิ่นครับ กว่าจะเคลียร์ กว่าจะขอถ่ายรูปได้ ก็ใช้เวลาพอสมควร 😆😁

คืนที่สองที่อาร์เมเนีย ซึ่งเป็นคืนสุดท้าย เราเลือกพักใจกลางเมืองใกล้ Republic square ครับ จะได้เดินออกไปเที่ยวได้เลยทั้งกลางวันและกลางคืน
ที่พักคืนนี้ก็เป็น Azoyan guesthouse ได้คะแนนรีวิวจากลูกค้า booking.com ถึง 9.8/10 เป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน !

ทางไปจอง Azoyan guesthouse: https://bit.ly/2VoS4LO

ภาพวาดด้านล่างก็คือเทพแมว “บาสเซ็ต” บนกระดาษปาปิรุสของอียิปต์นั่นเอง สอบถามแล้วได้ความว่าน้องชายซื้อมาให้จากอียิปต์ เห็นแล้วคิดถึงอียิปต์จังเลยครับ

เจ้าของชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว เป็นผู้หญิงวัยกลางคนครับ เธอชอบท่องเที่ยวคนเดียว ยังถามอยู่เลยว่า หากผู้หญิงจะไปเที่ยวไทยคนเดียว จะปลอดภัยมั้ย?
ส่วนภาพนี้ เป็นครัวครับ เธอบอกว่า อยากกินอะไร หรืออยากจะใช้ครัว ก็ตามสบายเลย ^.^ นอกจากนี้ยังใจดีมาก แนะนำเรื่องการท่องเที่ยวในอาร์เมเนียให้อีกด้วย

ส่วนห้องพัก ผมหารูปไม่เจอครับ ขนาดไม่เล็กเกินไป กำลังพอดี ราคาไม่แพง เจ้าของใจดี แล้วก็อยู่ทำเลดีๆกลางเมืองแบบนี้ คุ้มค่าคุ้มราคามากๆ
*หากใครสนใจ อาจต้องจองล่วงหน้านานหน่อยนะครับ เพราะมีแค่ 3 ห้องเอง
วันที่เราเข้าพัก พบกับ Ritu หญิงอินเดียวัย 55 ปี ทำงานเป็นล่าม ชอบท่องเที่ยวคนเดียว เพิ่งเดินทางมาจากอิหร่าน !
คุยกันนานเลยครับ คุยจนอยากไปอินเดียบ้าง

เช็กอินเสร็จ ได้เวลาเที่ยวเมืองบ้างแล้วครับ (เที่ยวแต่โบสถ์มาหลายที่ก็มีเบื่อๆบ้าง)
สภาพตัวเมืองหลวงเยเรวานนั้น แตกต่างกับนอกเมืองลิบลับ บรรยากาศยุโรปมากเลย

คุณแม่บอกว่าชอบเยเรวานมากกว่าทบิลิซีอีกครับ เพราะถนนเรียบ เป็นระเบียบ เดินง่าย ยิ่งอากาศเย็นๆหน่อยแบบนี้ยิ่งเดินไม่เหนื่อยเลย

Republic square

แน่นอนว่า สถานที่ต้องมายามค่ำคืน ก็คือ “Republic square” ศูนย์กลางของกรุงเยเรวานครับ

เวลาประมาณ 21.00 ของทุกวัน จะมีการแสดง แสง สี เสียง (Singing and dancing) ของน้ำพุที่จัตุรัสแห่งนี้ ซึ่งก็จะมีคนมารอชมเป็นจำนวนมาก

สำหรับคืนนี้ก็พอเท่านี้ กลับไปนอนที่พัก พรุ่งนี้ว่าจะออกไปเดินเล่นชิลๆในตัวเมือง เลือกหาผลงานศิลปะที่ถูกใจสักชิ้นก่อนกลับไทยครับ

ลืมบอกว่า วันนี้ตอนเย็นมีนัดส่งรถคืน พนักงานบริษัทเดินชะเง้อมองรอบรถนิดหน่อย แล้วก็รีบพุ่งไปที่ฝากกระโปรง (ประตูที่ 5 ท้ายรถ) ถามว่าโดนอะไรมา (มีตำหนิเป็ยรอยถลอก ทำสีแล้วไม่เนียน)
แต่โชคดีที่เราถ่ายรูปไว้ตั้งแต่ก่อนรับรถ แล้วยื่นให้ดู จึงจบเรื่องไปครับ
*ก่อนเซนต์รับรถ อย่าลืมถ่ายรูปไว้ให้รอบคันเลยนะครับ

Day 3

เช้าที่สดใสวันสุดท้ายที่อาร์เมเนีย ผ่านการเช็กเอาต์อันเรียบง่าย (เก็บของเสร็จ วางกุญแจไว้บนเคาท์เตอร์) ก็ออกเดินเที่ยวในตัวเมืองกันครับ
Republic square ยามเช้าเช้าวันใหม่ การเริ่มต้นของใครหลายๆคน

อากาศดีเหมือนเดิม

Freedom square
ห่างกับ Republic square ไม่มาก เดินไปเที่ยว Freedom square ต่อได้เลยครับ จัตุรัสนี้มีอีกหลายชื่อนะครับ เผื่อถามทางแล้วคนท้องถิ่นงง ทั้งชื่อ Liberty square หรือ Opera square แต่เหมือนว่าชื่อที่จะบ่งบอกตำแหน่งได้ง่ายที่สุดคือ Opera theatre
แต่นแต๊น !! Opera theatre ชื่อดัง วันนี้จะมีจัดคอนเสิร์ตจ้า -*- โดนบดบังซะอย่างนั้น
ไม่ไกลจาก Opera theatre นัก เป็นแหล่งรวมตัว และจัดขายผลงานศิลปะของศิลปินท้องถิ่นครับ ต้องอย่างนี้สิ! นี่สิที่ตามหา
มาดินแดนแห่งโนอาห์ทั้งที ก็ต้องจัดของที่ระลึกเกี่ยวกับโนอาห์ใช่มั้ยล่ะครับ
เดินเลือกอยู่สักพัก ก็ไม่มีภาพไหนเลยที่จะถูกใจไปกว่าภาพนี้ครับ “The Deluge” ภาพนี้ศิลปินสื่อถึงช่วงเช้าวันใหม่ที่เรือโนอาห์กำลังรอดพ้นจากการต่อสู้กับน้ำท่วมโลกมาทั้งคืนครับ (ที่เห็นนั่นไม่ใช่ขอนไม้นะ แต่เป็นส่วนบนของเรือ) ให้ความหมายดีมากๆ ประมาณว่า ฟ้าหลังฝนยังคงสดใสเสมอ แล้วเรื่องร้ายๆจะผ่านไป
*หมายเหตุ แม้เราจะอินจัด แต่ดูหน้าคนขายด้วย 😅😂
Cascade complex
เดินต่อไปอีกไม่ไกลก็ถึงแล้ว นี่เลยที่ห้ามพลาด จุดเช็กอินของเมืองหลวง Yerevan cascade !
สิ่งก่อสร้างนี้เป็น “บันได” ครับ สร้างเพื่อเชื่อมต่อ 2 พื้นที่ ที่อยู่ต่างระดับกัน ทำให้สัญจรสะดวกขึ้น (มีลิฟต์ แต่วันที่ผมไปลิฟต์ปิดทำการ 😤)
นับว่าเป็นความเข้าใจคิดมากเลยครับ เมื่อระดับพื้นที่ต่างกันมาก ก็ทำ “บันได” ที่สวยงามเชื่อมต่อซะเลย ได้เที่ยวด้วย ได้ใช้เป็นทางสัญจรด้วย
งานศิลปะบริเวณรอบๆ
บันไดเชื่อมต่อชั้นทั้ง 5 แต่ละชั้นมีผลงานศิลปะจัดแสดงแตกต่างกันไป ดูไม่เบื่อเลยครับ
เพียงแค่ชั้นที่ 2 ก็ได้มุมเมืองที่สวยงามแล้ว
5 ชั้นมันก็สูงเหมือนกันนะ
หากเดินขึ้นมาถึงบนสุด จะพบอนุสาวรีย์ Monument of the 50th Anniversary of Soviet Armenia สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยที่อาร์เมเนียยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตครับ
อนุสาวรีย์นี้สูงมากกก เด่นเป็นสง่าเลยครับ

Mother Armenia

ห่างไปไม่เท่าไร จะพบอนุสาวรีย์สูงเด่นมาก ราวกับผู้ปกป้องคุ้มครองนครแห่งนี้เลยครับ

 

ที่จอร์เจียมีอนุสาวรีย์ “มารดาแห่งจอร์เจีย” ใช่มั้ยครับ ที่นี่ก็มีอนุสาวรีย์ “มารดาแห่งอาร์เมเนีย” เช่นกัน
Mother Armenia เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างเพื่อแสดงถึงความเข้มแข็งของสตรีชาวอาร์เมเนียนในประวัติศาสตร์
ที่หยิบดาบขึ้นมาต่อต้านผู้รุกรานเคียงบ่าเคียงไหล่สามีของตน อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้ปกป้องนครหลวงแห่งนี้อีกด้วย

Armenian genocide memorial

ก่อนกลับ เราตัดสินใจโบก Taxi ไปอีกหนึ่งสถานที่ครับ สถานที่รูปลักษณ์แปลกตาช่างชวนให้หดหู่เสียเหลือเกิน

Armenian genocide memorial เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียนในจักรวรรดิออตโตมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (และต่อเนื่องหลังจากนั้น)
เหตุการณ์ในครั้งนั้น ส่งผลให้ชาวอาร์เมเนียนถูกฆ่าถึง 1,500,000 คน
อ่านไม่ผิดครับ หนึ่งล้าน ห้าแสนคน ช่างเป็นจำนวนมากมายที่น่าเศร้าจริงๆ

ส่วน Zvarnots cathedral ที่อยู่ไม่ไกลกัน ผมไม่ได้ไปตามมติเสียงส่วนใหญ่นะครับ ฮ่าๆ

เอาล่ะ จบเศร้าไปหน่อย แต่อาร์เมเนียคงหมดเท่านี้ละครับ มาไล่อ่านดู ผมไม่ค่อยได้ใส่เครื่องดื่ม หรืออาหารเลย ที่นี่ก็คล้ายๆจอร์เจียครับ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งไวน์ และเบียร์ถูกมาก อาหารก็คล้ายๆกัน ใครทานยากพกอาหารสำเร็จรูปจากไทยไปด้วยก็ดีนะครับ ส่วนขาช็อปทั้งหลายก็ไม่ต้องกังวล ในตัวเมืองมีช็อปของแบรนด์ชื่อดังมากมายครับ

สรุป ผมว่าที่นี่คุ้มค่ามากนะ สวยมากจริงๆ สวยทั้งนอกเมือง และในเมืองที่ได้บรรยากาศแบบยุโรป ค่าครองชีพก็ถูกแสนถูก ผู้คนก็เป็นมิตรมาก นักท่องเที่ยวยังค่อนข้างน้อย หากมาจอร์เจีย(หรือตุรกี) ควรพ่วงไปด้วยอย่างยิ่งครับ แต่หากจะมาเป็นประเทศหลักในการท่องเที่ยวเลย อาจต้องชั่งใจหน่อยเพราะค่าตั๋วเครื่องบินไม่ถูกเลยครับ (มารถไฟ หรือรถยนต์จากจอร์เจียถูกกว่ามาก) ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ทั้งในพันทิปและในเพจ ขอบคุณมากคร้าบ

หากเห็นว่าข้อมูลดี มีประโยชน์ ช่วยกด like แฟนเพจเฟซบุ๊คเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะครับ
❤️

ชื่อเพจ
Travel together – เที่ยวด้วยกันหมอฟันรีวิว
หรือตามลิงค์ไปได้เลยครับ

 

1 COMMENT