ความรักที่มีต่อใครคนหนึ่ง
จะต้องมากมายขนาดไหนกันนะ?
ถึงก่อให้เกิดสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ถึงเพียงนี้
อนุสรณ์สถานแห่งรักที่ยิ่งใหญ่ ที่แท้จริงกลับแฝงไว้ด้วยความเศร้าที่มากมายไม่แพ้กัน
“ทัช มาฮาล หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก”
สวัสดีครับ โพสต์นี้ขอแนะนำ “อินเดีย” ที่เราได้ไปเมื่อฤดูหนาวที่ผ่านมา
4 วัน 4 คืน กับ 2 เมือง ด้วยคำพูดที่เพื่อนๆมักทักเมื่อรู้ว่าเราจะไปอินเดียครับ
“ไปอินเดียหรอ?
ไม่ไปด้วยหรอก! ไปทำไม ทั้งร้อน ทั้งฝุ่น สกปรก อาหารก็ไม่อร่อย!”
แต่แล้ว…เราก็มาถึงอินเดียจนได้… แล้วก็ได้พบว่า หลายๆอย่างมันไม่ได้แย่อย่างที่เคยได้ยินมา
- กลิ่นตัวคนอินเดียอาจจะมีกลิ่นเครื่องเทศหน่อยๆ แต่ก็ไม่ได้แรงมากนะ ยิ่งไปฤดูหนาวนี่แทบไม่ได้กลิ่นเลย
- ผู้คนที่นี่เป็นมิตร ยิ้มแย้ม อัธยาศัยดี และชอบขอถ่ายรูปเป็นที่สุด (ประหนึ่งว่าเราเป็นเซเล็บเลยนะ)
- อาหารอร่อย ค่าครองชีพต่ำ ต่อราคาได้เยอะ (มากกกก)
- แล้วอินเดียไม่ได้ร้อนทั้งปีนะ ฤดูหนาวนี่ หนาวสั่นเลยล่ะ😣
- แม้คนจะเยอะ แต่มีช่องทางพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้ง passport ไทย ยังใช้ลดค่าเข้าชมได้หลายที่อีกด้วยนะ ได้ความรู้สึก VIP จริงๆเลย
และที่สำคัญ! สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งก็เวอร์วังอลังการมากจริงๆ
- “ทัช มาฮาล” สุสานหินอ่อนสีงาช้าง ที่ดูยังไงก็ไม่เบื่อ ความประณีต วิจิตร ทำให้ได้แต่คิดว่า นี่มันยิ่งกว่าคำร่ำลือซะอีกนะ
- อีกทั้ง “ชัยปุระ” นครสีชมพู ที่สวยหวาน จนทำให้ลืมภาพความดิบเถื่อนของอินเดียไปหมดสิ้น
เอาล่ะ! ลืมทุกอย่างที่เคยได้ยิน และเปิดใจยอมรับมัน
เพราะที่นี่คือ “อักรา และ ชัยปุระ”
เช่นเคย ก่อนอื่นขอเริ่มด้วยข้อควรรู้ก่อนไปอินเดียครับ
ข้อควรรู้ก่อนไปอินเดีย: เอกสารการเดินทาง (Travel documents)
– การเดินทางเข้าอินเดียง่ายนิดเดียว สามารถขอ E-VISA จากที่บ้านได้เลย ผ่านทางเว็บไซต์
https://indianvisaonline.gov.in/evisa/tvoa.html
– ตามเว็บแจ้งว่า ใช้เวลาดำเนินการ 3 วัน แต่จริงๆไม่เกิน 2 วันก็อนุมัติแล้วครับ
– ตอนนี้เค้าก็ลดราคาแรงมากด้วยนะ สำหรับวีซ่าท่องเที่ยว 30 วัน จาก 80 USD เหลือ 25 USD เท่านั้นเอง!
ข้อควรรู้ก่อนไปอินเดีย: สถานการณ์ความปลอดภัย
เมืองส่วนใหญ่ของอินเดียปลอดภัยต่อการท่องเที่ยว ยกเว้นเมืองที่อยู่ติดชายแดน ที่มีสงครามเป็นระยะ เช่น รัฐแคชเมียร์
ข้อควรรู้ก่อนไปอินเดีย: ฤดูกาลและเวลา
เนื่องจากอินเดียมีพื้นที่กว้างใหญ่ จึงมีความแตกต่างของอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ค่อนข้างมาก จึงควรเช็กอุณหภูมิแยกแต่ละเมืองมากกว่าที่จะเช็กอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งประเทศ
Jaipur
- ฤดูหนาว: ตุลาคม – มีนาคม เป็นช่วงที่อากาศเย็นสบาย (อาจถึงหนาวจัด) จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว
- ฤดูร้อน: ช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนที่มีอุณหภูมิสูงจัด (อาจถึง 45 ◦C) เมื่อรวมกับฝุ่นควัน อาจไม่เหมาะกับการท่องเที่ยวครับ
- ฤดูมรสุม: กรฏาคม – กันยายน เป็นช่วงมรสุมเหมาะกับคนที่ชอบฝน อีกทั้งมีเทศกาลต่างๆในช่วงเดือนนี้ด้วย
Agra
- ฤดูหนาว: ตุลาคม – มีนาคม เช่นเดียวกับชัยปุระ
- ฤดูร้อน: เมษายน – กรกฏาคม
- ฤดูมรสุม: สิงหาคม – ตุลาคม เป็นช่วงที่เหมาะกับการชมความงามของทัช มาฮาลมาก เพราะฝนที่ตกลงมาจะกลบฝุ่น ทำให้ท้องฟ้าสดใส
ส่วนเวลาที่อินเดียช้ากว่าไทย 1 ชั่วโมงครึ่ง (GMT +5.30)
ข้อควรรู้ก่อนไปอินเดีย: ค่าเงินและค่าครองชีพ
- อินเดียใช้สกุลเงินรูปี (Indian Rupee) โดย 2 รูปี มีค่าประมาณ 1 บาท
- สามารถแลกเงินรูปีมาจากประเทศไทยได้เลย หรือ นำ USD มาแลกที่อินเดียก็ได้
- *เรทการแลกเงินที่สนามบินไม่ดี หาแลกเอาข้างนอกได้เรทดีกว่านะครับ
- อาหารการกินราคาถูก ค่าเข้าสถานที่เที่ยวก็ไม่แพงมาก (ยกเว้น city palace ที่ชัยปุระ)
- *ของฝาก (หรือแม้กระทั่งของกิน) มักตั้งราคาไว้สูงมาก ควรต่อราคาให้ได้ประมาณครึ่งหนึ่งของที่ตั้งไว้
- *สรุปค่าใช้จ่ายอยู่ด้านล่างนะ*
ข้อควรรู้ก่อนไปอินเดีย: ศาสนา วัฒนธรรม การแต่งกาย อาหารการกิน
- ชาวอินเดียนับถือศาสนาอย่างหลากหลาย ทั้ง ฮินดู อิสลาม คริสต์ ซิกข์ และอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่ายังมีระบบวรรณะอยู่ด้วย การพูดคุยเรื่องศาสนาอาจไม่เหมาะนักกับคนแปลกหน้า
- อาหารรสจัด หนักเครื่องเทศ ผมว่าอร่อยดี น่าจะถูกปากคนไทยส่วนใหญ่เลยครับ
- ผู้หญิงอินเดียแต่งกายค่อนข้างมิดชิด แต่ไม่ได้มีท่าทีรังเกียจนักท่องเที่ยวต่างชาติที่แต่งตัวค่อนข้างเปิดเผย อีกทั้งยังชอบมาขอถ่ายรูปด้วยอีกครับ
- ขอทาน มีจำนวนมาก และมักเข้ามาขอเงินจากนักท่องเที่ยว หากใครสงสารแล้วให้ ก็เตรียมตัวรับมือกับขอทานจำนวนมากที่จะมารุมขอเงินจากคุณได้เลยครับ
ข้อควรรู้ก่อนไปอินเดีย: สาธารณูปโภค
- ความต่างศักย์ไฟฟ้า 220 โวลต์เท่าบ้านเรา
- ปลั๊กและเต้าเสียบเป็นแบบ Type C, D, M เพราะฉะนั้น ควรพก adapter ไปด้วยครับ
ข้อควรรู้ก่อนไปอินเดีย: การเดินทางจากประเทศไทย
- สามารถเดินทางโดยเที่ยวบินตรงจากประเทศไทยไปชัยปุระได้โดยสายการบิน ไทยแอร์เอเชีย ใช้เวลา 4.15 ชั่วโมง
- อีกหลายสายการบินให้บริการแต่ไม่ใช่การบินตรงครับ
ข้อควรรู้ก่อนไปอินเดีย: การเดินทางภายในอินเดีย
การเดินทางในเมืองใหญ่ของอินเดียมีความวุ่นวายมากครับ การจราจรแออัด รถขับกันไม่ค่อยมีระเบียบวินัย ในทริปนี้เราจึงเลือกการเดินทางยอดนิยม คือการเช่ารถพร้อมคนขับ ซึ่งได้รับประสบการณ์ไม่ดีหลายอย่าง ไว้อ่านกันต่อนะครับ ^.^
ข้อควรรู้ก่อนไปอินเดีย: Internet sim card
ทริปนี้เราเลือก Sim2fly จากประเทศไทยไป พบว่า สัญญาณไม่ค่อยดีครับ -*- และระหว่างเปลี่ยนรัฐ (เช่นเปลี่ยนจากเมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน ไปเมืองอักรา รัฐอุตรประเทศ) ควรรีสตาร์ทโทรศัพท์ แล้วรอสักระยะ เพื่อให้เครื่องค้นหาสัญญาณใหม่ครับ
บอกไว้ก่อนเลยครับว่าทริปนี้ “เกือบพัง”
แต่ทริปที่กำลังจะพังนั้น ก็กลับ “ปัง” ขึ้นมาได้ด้วยหลายๆอย่าง ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยครับ ว่าอะไรพัง! อะไรปัง!
เอาล่ะ! ว่าแล้วก็ไปเที่ยวกันเลย
ทริปนี้เราติดต่อรถเช่าพร้อมคนขับ (taxi with driver) จากบริษัทหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงพอสมควรในหมู่คนไทย วางแผนการเดินทางคร่าวๆ และแจ้งกับทางบริษัทไว้ ซึ่งทุกครั้งที่คุยกันก็มักจะตอบกลับมาว่า “No problem” ครับ
แผนโดยสรุป (แก้ไขแล้วหลังจากแผนของบริษัทรถไม่เหมาะกับเรา)
*หากยึดตามแผนของบริษัทรถ จะเที่ยว City palace ได้ไม่เต็มที่นะครับ
Day 0 คืนวันเดินทาง
ออกจากดอนเมือง ถึงสนามบินชัยปุระ ใช้เวลาผ่าน ตม. นานมาก เพราะเครื่องสแกนนิ้วยืนยันตัวบุคคลไม่ดี กว่าจะสแกนผ่านแต่ละคนได้นานมากครับ
ออกมาพบคนขับรถ แล้วก็ต้องประหลาดใจกับรถที่คนขับนำมา!
(เนื่องจากเราวางแผนเดินทางข้ามเมือง จากชัยปุระ -อักรา ซึ่งต้องใช้เวลานาน เรา 4 คน อยากนั่งสบายๆ จึงเลือก Toyota Innova ด้วยราคาเหมา 8000 บาท)
- พอถามหาว่าไหนล่ะรถที่ตกลงไว้?
- คำตอบคือ รถไม่ว่างจ้าาา
- ทีนี้คนขับก็ให้คุยกับบอส บอสบอกว่า วันมะรืนจะได้รถที่ตกลงไว้นะ นอกนั้นไม่ว่างจริงๆ (แล้วที่ตกลงกันไว้คืออะไร?)
- เราก็ อ่ะ โอเค วันเดินทางไกลก็วันนั้นพอดีไม่เป็นไร
- พอถามราคาเท่าไร? บริษัทบอกราคาเท่าเดิม (ราคาคันใหญ่ทุกวัน) ซะอย่างนั้น -*-
- แต่เราไม่ยอมนะครับ สุดท้ายตกลงได้ 7500 บาท *อย่าตกลงปากเปล่า ให้แชท แล้วกด capture ไว้เพื่อเป็นหลักฐานด้วยนะ
คืนแรกนอนโรงแรม Chitrakatha ครับ
Day 1 Jaipur
วันแรกในชัยปุระ คนขับมีแผนให้แล้ว เราก็ตามนั้นเลยครับ อ่านรีวิวมาแล้วบริษัทจัดแผนให้ดี เหมาะกับการท่องเที่ยวมาก สถานที่แรกป้อม Amber
Amer Fort
Amber fort หรือ Amer fort ป้อมปราการบนหินผาเหนือทะเลสาบ
ป้อมนี้กินพื้นที่กว่า 4 ตารางกิโลเมตร มีห้องเล็กห้องน้อยมากมาย ค่าเข้าชมอยู่ที่ 500 รูปี (250 บาท) ครับ
เห็นอยู่สูงแบบนั้นไม่ต้องกลัวเหนื่อยนะครับ สามารถขับรถอ้อมไปขึ้นด้านหลังได้ (ส่วนในรูปนั่นถ่ายตอนเดินลง)
🐘 แต่หากใครอยากได้สัมผัสประสบการณ์แบบเมื่อในอดีต ก็ต้องนี่เลย นั่งช้างขึ้นไปจ้า
Tips:
– ค่าขี่ข้างประมาณ 1100 รูปี/2 คน *และไม่ต้องให้ทิปนะครับ (ทางการติดป้ายไว้ว่าไม่ต้องให้ทิป)
แม้จะเป็นป้อมปราการ แต่ข้างในก็สวยอยู่นะ
ใกล้ป้อมนี้ ยังมีพระราชวังกลางน้ำ Jal mahal แต่วันที่ไปฝุ่นหนามากครับ มองแทบไม่เห็นเลย
Hawa Mahal
ต่อกันด้วยที่แห่งนี้…พระราชวังแห่งสายลม (Palace of the winds) “ฮาวา มาฮาล” ที่มีความสูงราว 15 เมตร
สถานที่แห่งนี้สร้างจากหินทรายสีชมพู ออกแบบเป็นช่องลมคล้ายรังผึ้ง เพื่อให้สตรีในวัง (นางใน) ได้รับชมกิจกรรมบนท้องถนนของตัวเมืองจากภายในวังได้โดยไม่มีใครสังเกตเห็น
สำหรับใครที่สงสัยว่า “ช่องลม” ที่ให้เหล่านางในมองออกมานั้นมีกี่บานกันแน่ ก็มีคนนับให้แล้วครับ อยู่ที่ 935 ช่อง!
ส่วนตัวผมเอง คิดว่าตัวอาคารก็สวยดีนะครับ แต่ฝุ่นและควันเกาะเยอะมาก ไม่ค่อยว้าวเท่าไร
เนื่องจากพื้นที่หน้าฮาวา มาฮาลมีจำกัด ยากที่จะถ่ายรูปให้เก็บได้ทั้งหมด จึงต้องไปถ่ายจากฝั่งตรงข้ามของถนน ซึ่งมีคาเฟ่ 2 ร้าน (แต่ทางขึ้นเดียวกัน) นะครับ
ดื่มช็อกโกแลตร้อนช่วงเช้าฝุ่นยังไม่เยอะ นั่งชมวิวฮาวา มาฮาลไปด้วย ฟินจริงๆเลย
Tips: ด้านหน้าพระวัง Hawa mahal หันไปทางทิศตะวันออก เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากถ่ายย้อนแสง ให้มาก่อนเที่ยงนะครับ
อีกอย่างก็คือ ช่วงบ่ายฝุ่นเยอะมาก ท้องฟ้าเต็มไปด้วยฝุ่นควัน ห่างจากตัวอาคารออกมาก็มองดูทะมึนๆแล้วครับ
ปล. เราไปกัน 2 วัน บ่ายกับเช้านะครับ รูปที่เห็นจะรวมๆกัน
นอกเรื่องนิดหนึ่ง
– ระหว่างที่เรากำลังถ่ายรูปกันอยู่นั้น พนักงานร้านคนหนึ่งก็เดินเข้ามาบอกว่า ห้ามปีนขึ้นดาดฟ้าตึกข้างๆนะ มันผิดกฏหมาย (ตรงดาดฟ้าตึกข้างๆน่าจะวิวสวย) เราก็โอเคๆครับ สักพักพนักงานคนเดิม เดินมาพร้อมถังน้ำหนึ่งใบ ทำอะไรรู้มั้ย?
พี่แกเอาน้ำมาราดทำความสะอาดดาดฟ้าตึกข้างๆเป็นทางเดินให้เราขึ้นไปจ้า ฮ่าๆๆๆ แต่เราไม่ได้ขึ้นนะครับ
– อีกเรื่องหนึ่ง: พนักงานอีกคน พอรู้ว่าเราเป็นคนไทย ก็มาชวนคุยใหญ่เลย เขาเล่าว่ามีแฟนอยู่เมืองไทยนะ วางแผนจะแต่งงานกันแล้ว แต่งเสร็จจะไปอยู่เมืองไทย และวางแผนที่จะเปิดร้านขายของก็อปปี้ล่ะ เพราะมันกำไรดีมากเลย (เหอะๆ ไอ้เราก็ได้แต่หัวเราะแห้งๆครับ 😅)
Jantar mantar
ใกล้กับ Hawa mahal ยังมีอีกสถานที่เที่ยวครับ ได้แก่ Jantar mantar ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมสถาปัตยกรรมที่ออกแบบให้เป็นเครื่องมือทางดาราศาสตร์ ค่าเข้าชม 200 รูปี (100 บาท)
คนเพียบ!
นาฬิกาแดด สังเกตที่เงาของเข็มที่ปักไว้บนหน้าปัทม์นาฬิกานะครับ ตอนที่เราไปถึงเวลา 16.08 น.
ของหลายอย่างก็ดูน่าทึ่งนะครับ แต่เราไม่ค่อยอินเท่าไร เลยข้ามไปครับ
หมดไปแล้ว 1 วัน (จริงๆมาซ้ำ Hawa mahal วันสุดท้าย) ดูแล้วแผนการเที่ยวที่บริษัทวางไว้ให้ไม่เหมาะกับเราอย่างมากครับ โดยส่งเราที่หน้า City palace ตอน 15.00 น. (City palace ปิดให้เข้าชม 17.00 น.) แล้วให้เราเดินเที่ยว City palace, Jantar mantar และ Hawa mahal ซึ่งไม่ทันแน่นอน จึงตกลงกันว่า ไว้พรุ่งนี้จะวางแผนเองแล้ว
แก้เซ็งวันนี้โดยให้คนขับจอดส่งเดินเล่นย่านการค้าแบบ market street
- แต่คนขับยึกยึก อ้างเหตุผลนู่นนี่ จะพาเข้าร้านแพง) แต่เดินได้ไม่ถึง 10 นาที คนขับก็ทักแชทมาว่า มีปัญหาที่จอดรถ ให้รีบกลับมาที่รถโดยด่วน!
- ไอ้เราก็รีบเดินกลับ แล้วก็ได้พบว่า ที่จอดใหม่มันอยู่ห่างไปไม่ถึง 50 เมตร! แต่ที่เรียกมาเนี่ย คือคนขับบอกว่าจะพาไปร้านที่ราคาดี และคุณภาพดีจ้า
- ระหว่างนั้นน้องๆก็ไปถามพ่อค้าในร้านที่กำลังเลือกซื้อของ (ที่จอดตอนแรก) พ่อค้าก็บอกว่า ก็จอดหน้าร้านได้ ไม่มีปัญหานะ👳😑
Day 2 Agra
วันนี้ออกเดินทางแต่เช้าไปอักรา ได้รถ Toyota Innova ที่ตกลงไว้เรียบร้อย (พร้อมคนขับคนใหม่)
เนื่องจากเวลามีน้อย และต้องการเก็บรูป Taj mahal จากหลายๆจุด จึงรีบออกแต่เช้า แล้วมุ่งหน้าตรงไปอักราเลยโดยไม่ต้องแวะที่ไหนทั้งสิ้น
แต่…เริ่มเช้าวันใหม่ด้วยการทีคนขับมาช้าไปครึ่งชั่วโมง -*-
- พอบอกว่าไม่ต้องแวะไหนละนะ ไปกินข้าวนู่นได้เลย
- คำตอบที่ได้คือ No problem แต่ถึงคุณไม่กินกลางวัน แต่ผมต้องกินนี่ (อ่ะๆ อันนี้ยอมครับ)
- แล้วก็ตามคาด พาเข้าร้านอย่างแพง
- แวะเติมน้ำมัน คนขับไม่มีเงินอีก เอาเข้าไป (แต่ไม่เป็นไร ให้น้องยุ้ยจดค่าใช้จ่ายไว้ทุกอย่างละ)
แต่…(อีกแล้ว) ขณะที่พวกเรากำลังหลับๆตื่นๆ คนขับก็พาเราแวะระหว่างทางจนได้ครับ
Chand Baori stepwell
บ่อน้ำขั้นบันไดที่มีอยู่เต็มไปหมดนี่คือ Chand Baori stepwell
บ่อน้ำขั้นบันไดแห่งนี้เป็นบ่อที่ลึกที่สุดในอินเดียแล้วครับ ขุดลงไปถึง 13 ชั้น! มีบันไดทั้งหมด 3500 ขั้น สร้าง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้นั่นเอง นับว่าเป็นการเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำตั้งแต่กว่า 1000 ปีก่อนที่ดีเยี่ยมเลยครับ
Tips: ค่าเข้าชมสำหรับผู้ถือ passport ไทย 25 รูปีเท่านั้น
ใช้เวลาเที่ยวแค่ประมาณ 15 นาทีก็เสร็จ ออกเดินทางกันต่อ
Taj Mahal
รถติดในอินเดียโหดมากครับ จากเดิมที่ต้องถึงทัช มาฮาลประมาณ 14.00 น. ก็เลทเป็น 16.10 น. ได้
เฮ้อ! เหลือเวลาเที่ยวนิดเดียวซะแล้ว
แต่เพื่อความประหยัดเวลา เราได้จองตั๋วเข้า Taj mahal ออนไลน์ไว้เรียบร้อยครับ
Tips:
– ทัช มาฮาล ปิดทุกวันศุกร์
– สามารถจองตั๋วเข้าทัช มาฮาล ล่วงหน้าได้ทางเว็บไซต์ https://asi.payumoney.com/
– ค่าเช้าชมสำหรับชาวต่างชาติ 1050 รูปี (525 บาท) แต่สำหรับคนไทย จะเหลือเพียง 535 รูป (267.5 บาท) เท่านั้น โดยให้ติ๊กในช่อง BIMSTEC (ไทยเราเป็นสมาชิกความร่วมมือ BIMSTEC ครับ)
– หากต้องการเข้าชมสุสานของภายใน (ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป) ต้องเสียค่าเข้าชมเพิ่มอีก 200 รูปี (100 บาท)
– รวมค่าตั๋วเข้า Taj mahal 367.5 บาท/คน
ผ่าง! อะไรคนจะเยอะขนาดนี้
โอ้โห! เพื่อนเยอะจริงๆ มองไปทางไหนก็มีแต่เพื่อนครับ ถ่ายรูปลำบากมากเลย แต่ในขณะที่คนอื่นมัวสนใจทัช มาฮาล ให้เดินต่อไปเรื่อยๆ ถึงส่วนที่เป็นเกาะกลาง แล้วลองหันกลับไปทางประตูทางเข้านะครับ !เป็นอย่างไรบ้าง?
ถ่ายรูปง่ายกว่าที่คิดเยอะเลย
🕌 ทัช มาฮาล สุสานหินอ่อนสีงาช้าง
👳🏻♂️ สร้างโดยจักรพรรดิ์ชาห์ชะฮัน แห่งราชวงศ์โมกุล เพื่อรำลึกถึงพระมเหสี “มุสตัซ มาฮาล” ผู้เป็นที่รัก ซึ่งเสกสมรสกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งชาห์ฮะอันยังเป็นเจ้าชาย
ครั้นเมื่อขึ้นครองบัลลังก์แล้วพระมเหสีองค์นี้ก็ยังคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับพระจักรพรรดิ์และคอยติดตามอยู่ไม่เคยแยกจากกันอีกด้วย
แต่เมื่อมีพบ ก็ย่อมมีจาก…เมื่อถึงเวลาให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14 ก็ถึงคราวที่ทั้งสองพระองค์ต้องแยกห่างกันไปตลอดกาล….
พระมเหสีสิ้นพระชนม์จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้พระจักรพรรดิ์โศกเศร้าเป็นอันมาก
จึงสร้างทัช มาฮาลขึ้น เพื่อเป็นสุสานและอนุสรณ์สถานแห่งรักที่พระองค์มีต่อพระมเหสีนั่นเอง
ทว่าตอนจบก็ไม่ได้สวยงามเสมอไป…ในบั้นปลาย พระองค์ถูกพระโอรสจับขังไว้ใน “ป้อมอักรา”
นานถึง 8 ปี..
วันและคืนที่ยาวนานผ่านไปโดยที่พระองค์ได้แต่ทอดพระเนตรมองสุสานของมเหสีอันเป็นที่รัก
จากที่จองจำจนกระทั่งสวรรคต
😥😢
ทว่า..ความตายนั้นเอง ก็ทำให้พระองค์ได้กลับไปอยู่เคียงข้างพระมเหสีใน “ทัช มาฮาล” ไปตลอดกาล…
เป็นอย่างไรบ้างครับ “สุสานหินอ่อนสีงาช้าง” แห่งนี้ งดงามสมคำร่ำลือมั้ยครับ?
แม้คนจะเยอะ แต่ไม่ได้ทำให้ความงามสง่าของ “ทัช มาฮาล” ลดลงเลยแม้แต่น้อย
Tips:
- ควรวางแผนช่วงเวลาเที่ยวทัชมาฮาลให้ดีนะครับ เพราะช่วงเช้า แม้คนจะน้อยกว่า แต่ถ้าเป็นฤดูหนาว หมอกลงจัดนี่แทบมองไม่เห็นเลย
- จุดชมวิว ทัช มาฮาลยังมีอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น จากแม่น้ำยมุนาทางด้านหลัง, สวนแห่งแสงจันทร์ Metab bagh และอื่นๆ แต่วันที่เราไปเที่ยวกันหมอกลงจัดมาก อยู่ไกลๆมองแทบไม่เห็นทัช มาฮาลเลยครับ อีกทั้งไม่เหลือเวลาแล้วด้วย จึงไม่ได้ไปนะครับ
- จุดถ่ายรูปในภาพ ให้เดินตามทางเข้ามาตรงๆ ขึ้นบันไดข้ามเกาะกลาง แล้วเดินลงไปก็จะได้จุดนี้ ซึ่งคนน้อยกว่าจุดที่อยู่หน้าประตูที่คนไปออกันเป็นจำนวนมากครับ
ได้เวลาสะบัดส่าหรี!
สำหรับชุดส่าหรี สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในอินเดีย ชุดนี้ซื้อจากชัยปุระ ต่อราคาจาก 3500 รูปี เหลือ 1600 รูปีเท่านั้น แต่ก็ไม่รู้ว่าราคานี้ถูกหรือแพงนะครับ 😅
ใช้เวลาอยู่ Taj mahal 2 ชั่วโมงเต็ม ได้เวลาปิด รปภ. มาบอกให้ออกได้แล้วครับ ขอบอกว่าประทับใจมากๆ สุสานหินอ่อนแห่งนี้สวยยิ่งกว่าคำร่ำลืออีกครับ เรื่องแย่ๆที่ได้เจอมาในทริปนี้ มลายหายไปสิ้น แค่ได้ยล Taj mahal
คืนนี้เรานอนกันที่โรงแรม Lucky guest house & restaurant อยู่ใกล้ Taj mahal เลยครับ บริการดี เจ้าของใจดี มีรอยยิ้มคล้าย Jurgen Klopp เฮดโค้ชสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลแห่งพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เสียดายที่ตอนเราเช็กเอาท์แล้วจะขอถ่ายรูป เจ้าของดันออกไปธุระ เลยอดถ่ายมาให้ดูเลยครับ
อ้อ ลืมไปอย่าง หลายโรงแรมในอินเดียไม่มี Heater ให้นะ ถ้าอยากได้ต้องจ่ายเพิ่ม แล้วจะได้เป็น heater เคลื่อนที่ ซึ่งอุ่นเฉพาะบริเวณใกล้ๆตัวเครื่องจ้า
อีกหลายอย่างที่เราได้พบความ “แปลก” ของอินเดีย ก็ได้แก่
- ลิฟต์ ที่ไม่มีปุ่มกดเปิด/ปิดประตู… คือถึงแล้วต้องรีบเดินออกอ่ะ ไม่งั้นมันจะพาไปชั้นอื่นต่อ😂
- โถส้วมนั่ง ที่ดัดแปลงมาจากส้วมซึม
- นกพิราบมีอยู่ทุกที่ แม้กระทั่งในอาคารผู้โดยสารของสนามบิน !
Day 3 Back to Jaipur
ตื่นเช้ารับวันใหม่ด้วยอารมณ์ดีเป็นพิเศษ Taj mahal ทำให้ทั้งกรุ๊ปมีความสุขมากจริงๆครับ การได้ไปเห็นสิ่งที่ปรารถนาตั้งแต่เด็กกับตาตัวเอง เหมือนเป็นการเติมเต็มความฝันไปอีกอย่างเลยทีเดียว
วันนี้เช้าเราไป Agra fort หรือป้อมแดง
Agra fort
Tips:
ค่าเข้าชมสำหรับผู้ถือ passport ไทยอยู่ที่เพียง 200 รูปี (100 บาท)
คุ้นชื่อกันใช่มัยครับ?
ป้อมแห่งนี้เองที่จักรพรรดิ์ผู้สร้างทัช มาฮาล ถูกจับมาขังไว้
และสวรรคตโดยทำได้แต่จ้องมองทัช มาฮาล สุสานของมเหสีผู้เป็นที่รัก จากสถานที่จองจำแห่งนี้เท่านั้น 😢
เสร็จจากการเที่ยว Agra fort อันหนาวเหน็บ อุณหภูมิประมาณ 5 องศา หมอกจัด และลมแรงเรียบร้อย ได้เวลาเดินทางกลับชัยปุระกันครับ
และคนขับก็ไม่ลืมที่จะพาแวะร้านอาหารกลางวันร้านเดิม (ซึ่งแพงนั่นเอง)
ก่อนเข้าโรงแรมเราแวะประตูสีชมพูสวยหวาน
Patrika gate
แค่ชื่อก็หวานแล้ว “พัทริกา เกต (Patrika gate)”
ประตูเมืองสีชมพู อะไรจะสวยหวานขนาดนี้ ❣
Tips:
- ไม่เสียค่าเข้าชม
- ประตูเมืองลำดับที่ 9 นี้อยู่ใกล้สนามบินชัยปุระมาก หากมีเวลาไม่มาก แวะเที่ยวก่อนกลับก็ได้นะครับ
- หากอยากได้รูปแสงลอดผ่านประตูมาอย่างในรูป ให้มาช่วงเย็นนะครับ
ถูกใจสาวๆ มากจ้า
แต่ละประตูเล็กก็ได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตร มองในแนวลึกก็สวยไปอีกแบบ
กระโดด!
ประตูเมือง Patrika gate เป็นอีกที่ที่ประทับใจมากครับ แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่สวยหวาน มองแล้วอดยิ้มไม่ได้เลย
เที่ยวได้ไม่ทันไรก็มืดแล้ว ขากลับเราให้คนขับพาไปตลาดประเภท market street อีกครั้ง จะแก้ตัวให้ได้ แต่คนขับก็ออกลีลา จะพาเข้าร้านแพงอีกแล้วจ้า เราจึงตกลงกันว่า งั้นกลับโรงแรมเลยเถอะ ไว้พรุ่งนี้ค่อยเดินช็อปปิ้งแถว Hawa mahal bazaar เอา
Day 4 Return to Bangkok
City palace
เช้านี้คนขับมาตรงเวลาครับ เป้าหมายในวันนี้คือ City palace พระราชวังที่จะทำให้สาวๆได้โพสต์ท่าถ่ายรูปกันอย่างหนำใจ!
สำหรับตั๋วเข้าชม City palace มีหลายราคานะครับ ตั้งแต่ราคา 500 รูปี ซึ่งสามารถเข้าชมพื้นที่โดยรอบได้
แต่หากต้องการเข้า Private zone (Chandra mahal) ค่าตั๋วจะพุ่งขึ้นไปถึง 3500 รูปี ! (1750 บาท!) 😲
ราคานี้เป็นราคาเหมารวมไกด์ให้แล้วนะครับ ไกด์จะตามประกบเราตลอดเวลา
ซื้อตั๋วเรียบร้อย ไกด์ก็จะพาเราขึ้นลิฟต์แบบโบราณ
เริ่มกันที่ห้อง “Blue palace (Sukh Niwas)” บนชั้น 5 ของพระราชวังแห่งนี้
ได้ถ่ายรูปในห้องผนังสีฟ้า Persian blue บวกกับงานจิตรกรรมที่อ่อนช้อย ให้อารมณ์ราวกับเป็นเจ้าหญิงเลยจ้า 👸
ต่อกันที่ Mirror palace (Sri Niwas) ตกแต่งด้วยกระจกเล็กๆมากมายทั้งที่ผนังและเพดาน ดูเผินๆก็ไม่ว้าวเท่าไรใช่มั้ยครับ?
แต่เดี๋ยวก่อน! สังเกตที่เทียน 2 เล่มบนโต๊ะนั้นให้ดี เดี๋ยวจะมีเจ้าหน้าที่จุดเทียน และปิดไฟให้ !
พรึ่บ! ว้าวๆๆ 😮 😮 😮
เริ่มมีออร่าของความเป็น “มหารานี” 👸
ยังๆๆ ยังไม่หมดเท่านี้ ห้องที่สร้างด้วยหินอ่อน และตกแต่งด้วยทองแห่งนี้มีชื่อว่า “Golden room (Shobba Niwas)” ครับ
พรมแดงพร้อม! คนพร้อม! ถ่ายรูปได้
ว้าววววว มหารานี มาเอง ☺ อลังเวอร์มาก
ส่วนนี่เป็นห้องบรรทม และห้องส่วนพระองค์
แม้เราจะซื้อตั๋ว Private zone มาแล้ว
แต่บางห้องซึ่งสวยมาก ก็ยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูปนะครับ
แต่หากไม่ได้ซื้อตั๋ว Private มา พื้นที่เปิดให้เข้าชมด้านล่างก็สวยเหมือนกันนะ (ตึกสูงในรูปนั่นคือ Chandra mahal หรือ Private zone ครับ)
ไฮไลต์สำคัญใน zone นอก ก็คือ ประตู 4 ฤดู (4 seasons gates) ซึ่งในสมัยก่อนสุภาพสตรีชาวอินเดียจะเดินผ่านประตูเหล่านี้เพื่อมาชมเทศกาล หรืองานเฉลิมฉลองต่างๆ ที่ลานกว้างแห่งนี้ครับ
ทั้ง 4 ประตูได้แก่
– ประตูดอกกุหลาบ หรือประตูแห่งฤดูหนาว
– ประตูนกยูง หรือประตูแห่งฤดูใบไม้ร่วง
– ประตูดอกบัว หรือประตูแห่งฤดูร้อน
– และประตู Lehriya (คลื่น) แห่งฤดูใบไม้ผลิ
สำหรับ City palace เราขอบอกว่า “เกินคุ้ม” ครับ สวยจริงๆ หากมีเวลาแนะนำให้จ่ายค่าตั๋ว แบบ Private zone ไปเลยครับ ฟินแน่ๆ
ส่วนนี่เป็นแถว Hawa mahal bazaar ใกล้ city palace
ผ่าง !!! นี่แหละครับ สภาพตามท้องถนนที่พบได้ทั่วไปในอินเดีย นกพิราบเพียบ ฝุ่นก็เยอะ
สินค้าในร้านตึกแถว กับวางขายแบกะดิน บางอย่างเหมือนกันเปี๊ยบ แต่ราคาต่างกันเท่าตัวเลย แบบนี้ต้องบอกว่า ตาดีได้ ตาร้ายเสียนะครับ
Nahargarh fort
ก่อนกลับเราแวะ Nahargarh fort ป้อมปราการที่ตั้งสูงตระหง่านเหนือนครชัยปุระ ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ 200 รูปี (100 บาท)
เห็นเมืองชัยปุระจากมุมสูง (ฝุ่นทั้งนั้น) 😂 😂
ที่ป้อมนี้มีชื่อเสียง เรื่องการเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตก
👳 เกือบลืมไปเลย มาอินเดียแล้วเราจะได้เห็นโยคี ฤาษี หรือร่างทรงเทพต่างๆในศาสนาฮินดูได้เป็นจำนวนมากเลยครับ ส่วนธงที่เห็นในรูปธงชัยปุระครับ
ลิงเต็มไปหมด อย่ามัวแต่เล็งกล้องถ่ายรูปนะครับ ผมโดนลิงหยิกมาแล้ว 😂
เอาล่ะ ทริปนี้ก็คงจบเท่านี้นะครับ และวันเดินทางกลับนี่เองที่ถึงจุด “พีค” ของทริป 👺
- หลังจากฝ่ารถติดมาอย่างยาวนาน เกือบจะถึงสนามบินอยู่ละ อยู่ๆคนขับก็จอดรถข้างทาง! ตอนนั้นทุกคนในรถก็เริ่มนึกถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งอ่านเจอแล้ว ว่าที่อินเดีย เคยมีคนขับจอดรถก่อนถึงสนามบิน แล้วลงไปทำลับๆล่อๆ ดูคุกคามจนน่ากลัว จนเค้าต้องวิ่งลงไปขอความช่วยเหลือจากชาวบ้าน
- แต่โชคยังดีที่ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นครับ คนขับบอกว่าที่สนามบินไม่มีที่จอด ให้เคลียร์ค่าใช้จ่ายตรงนี้เลย
- เออๆ ก็ได้ จ่ายเงินเรียบร้อย (ไม่ลืมจะหักค่าน้ำมันที่ยืมไป) คนขับก็เริ่มออกลาย ขอทิป หึหึ
- แน่นอนว่า “ไม่จ่ายจ้า” พาไปให้ถึงสนามบินก่อน! ใช้เวลาให้ทิปไม่ถึง 1 นาทีหรอก ยังไงก็ไม่จ่ายตรงนี้
- ถึงตอนนี้คนขับก็ยึกยัก ไม่ยอมไปสักที ไอ้เราก็นั่งนิ่งในรถอย่างนั้นแหละ เอาสิ ถ้าจอดไว้อย่างนี้ เจ้าหน้าที่มาตรวจแน่ !
- หลังจากเงอะงะเพราะไม่ได้ทิปสักพัก คนขับก็ยอมพาไปส่งที่อาคารผู้โดยสารจนได้ ซึ่งก็แน่นอนว่าตรงนั้นไม่มีปัญหาเรื่องจอดรถหรอก จอดกันเพียบ😑
- ทีนี้เราก็รีบยกกระเป๋าลงให้ไวละ หันไปหาคนขับที่รอทิปอยู่ อ่ะเอาไป
- คนขับก็บอกว่า ทิปน้อยไปนะ ขั้นต่ำต้องเท่านู่นเท่านี้
- ฮ่าๆๆ ตอนนี้ถึงที่หมายละ เป็นต่อละ ไม่ให้ละจ้า No problem จริงๆละจ้าาาา😸
- มานึกๆทีหลังได้ว่า นี่ดีนะที่ไม่จ่ายทิปตั้งแต่หยุดก่อนถึงสนามบิน ไม่งั้นคงไม่มาส่งถึงที่แน่ๆเลยครับ
รายละเอียดค่าใช้จ่ายก็ตามนี้นะครับ รวมแล้ว 20000 หน่อยๆ ซึ่งพวกเราไปช่วงปีใหม่ ตั๋วแพงมากครับ ถ้าไปช่วงอื่นได้ต่ำกว่า 20000 แน่นอน อ้อ! บางรายการที่ไม่มีในตาราง เช่น ค่าเข้า Hawa mahal เพราะไม่ได้เข้านะครับ แค่ถ่ายรูปจากด้านนอกเอา, อาหารเช้าโรงแรมที่ฟรีก็ไม่ได้ใส่ไว้
ส่วนร้านอาหารวันสุดท้ายที่ร้าน Once upon a time Nahargah fort ราคาแรงกว่าที่อื่น แต่อร่อยคุ้มราคาครับ
สรุปทริปนี้ ถ้ารับเรื่องรถติด และฝุ่นเยอะได้ ผมว่าที่นี่ก็น่าเที่ยวมากครับ ถ้าไม่อยากร้อนก็ไปเที่ยวฤดูหนาวเอา แต่คนก็จะเยอะหน่อย
และที่สำคัญ “สาวๆ ถูกใจกันมาก” โดยเฉพาะที่เที่ยวสวยหวาน ได้โพสต์ท่าสวยๆ ประดุจมหารานีก็ไม่ปาน
❤️ ถูกใจแค่ไหนดูได้จาก “รอยยิ้ม” เลยครับ
หากเห็นว่าข้อมูลดี มีประโยชน์ ช่วยกด like แฟนเพจเฟซบุ๊คเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะครับ
Travel together – เที่ยวด้วยกันหมอฟันรีวิว
หรือตามลิงค์ไปได้เลยครับ
สวัสดีครับ โพสต์แรกของทางเพจ
สุดยอดครับ กลม
ขอบคุณครับเสี่ยเกิร์น